ประสบการณ์ที่ไม่มีในตำราเรียนในมหาวิทยาลัย หรือ การมาทำงานหนัก ใช้แรงงาน ในต่างประเทศ ใครคุ้มกว่า ระหว่างนักศึกษาอยู่ไทย หรือ นักศึกษาที่มาต่างประเทศ ในช่วงปิดเทอม
บางครั้งการมองกลับมาดูในสิ่งที่เราเคยผ่านมาหลายๆ ปี ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น จากการที่เราเจอกับตัวเองในตอนนั้น ความสึกรู้ไม่เหมือนกัน หลายคนพูดคุยกันโดยใช้เหตุผลต่างๆ นานา ว่าโครงการนี้ดีและไม่ดี โดยใช้ประสบการณ์จากตัวเองโดยตรง หรือจากคนสนิทที่รู้จักเล่าให้ฟัง เราก็เลือกที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อตามความคิดที่คล้อยตามหรือขัดแย้งจากสิ่งที่เราได้พบเห็น หรือได้ฟัง ใช่ไหมครับ?
ผมมองว่าโครงการ Summer Work and Travel เป็นโครงการที่มีเจตนาที่ดีของรัฐบาลอเมริกา เพื่อใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรรมของคนอเมริกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ โดยใช้อเมริกาเป็นศูนย์กลาง ทำให้คนอเมริกันเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนอื่นมากขึ้น เพราะมีการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติในประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้โครงการนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในอเมริกา และประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีสถิตินักศึกษาเข้าร่วมโครงการปีละมากกว่า 4,000 คน ทั้งๆ ที่สถิติการจ้างแรงงานในอเมริกาก็ยังไม่ค่อยดีนัก ทำไมนักศึกษาไทยจำนวนมากจึงอยากเข้าร่วมโครงการมากขนาดนี้? คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ คือ อยากไปทำงานต่างประเทศและหาเงิน ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมโครงการใช่ไหม? ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างงาน การทำงานกับนายจ้างที่ไม่ผ่านมาตรฐาน และอื่น ๆ ไม่ได้เกิดเฉพาะคนไทยที่เข้าร่วมโครงการ ยังมีรัสเซีย จีน จาเมกา พิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ที่พบปัญหาต่าง ๆ จนทำให้ ปี 2557 สภาครองเกสต้องกำหนดมาตรฐานโครงการใหม่ และให้คัดเลือก US Sponsor ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น พร้อมไม่เพิ่ม US Sponsor ใหม่ ทำให้การเข้าร่วมโครงการเพิ่มการคัดเลือกมากยิ่งขึ้นตามมาตรฐานของแต่ละองค์กร คำถามคือแล้วผลลัพธ์ออกมาดีขึ้นหรือไม่?
ประเทศไทยได้เปลี่ยนช่วงเปิด-ปิดเทอมใหม่ ทำให้ได้รับผลกระทบจากโควตาจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในปี 2558 เป็นต้นไป เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เป็นช่วง Summer ของอเมริกา และหลายๆ ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้มีการแข่งขันและคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น แต่ได้นักศึกษาที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการจริงใช่ไหม? ความพร้อมไม่ใช่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ความพร้อม คือ ความพร้อมทั้งความคิด และการเตรียมตัว สังเกตง่ายๆ นักศึกษาส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอย่างไร? ส่วนใหญ่จะไป เพราะเพื่อนพาไป เลยเลือกที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ถามว่า แล้วถ้าเกิดปัญหาจะแก้ไขอย่างไร? อ่อให้เพื่อนจัดการให้! ถ้ามองกันอย่างเป็นกลาง สมมุติเราเป็นนายจ้างรับพนักงานมาทำตำแหน่ง Hostess แต่คุยกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง หรือคุยกับเพื่อนร่วมงานไม่รู้เรื่อง เราควรรับทำงานต่อไหม ในเชิงธุรกิจ? ฉันใดก็ฉันนั้น นักศึกษาก็ต้องการงานที่ดี ๆ สบายๆ แต่เราพร้อมแล้วจริงหรอ? พอเกิดปัญหาขึ้น ว่าได้จำนวนชั่วโมงงานน้อย โดนไล่ออก จะเปลี่ยนงานใหม่ เพราะได้งานที่ดีกว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับนักศึกษาไทยทุกปี แต่แปลกใจมากที่นักศึกษาจากประเทศอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้กลับลดลงเรื่อย ๆ เหตุเพราะเรายังไม่เดินไปตามทางที่ควรจะเดิน เหมือนที่อื่นเค้าทำกันไงละครับ!
เอเจนที่ดำเนินการโครงการนี้ ปัจจุบันมีทั้งหมด 19 เอเจน พร้อมที่จะเปิดใหม่และปิดตัวไปทุกปี เหตุที่ปิดอาจเพราะโดนนักศึกษาถล่ม แล้วไปเปิดชื่อใหม่ หรือไม่อยากทำแล้ว หรือถ้าเปิดใหม่ก็เพราะแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ผมเข้าใจว่าเป็นธุรกิจ แต่อย่างหนึ่งที่เราไม่ควรพลาด คือ โครงการ Summer Work and Travel มีจุดประสงค์ให้ออกไปหาประสบการณ์ และเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ติดตัวเราให้นำไปใช้ในอนาคต ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ควรทำบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่การสร้างฝันให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เพราะเมื่อไม่เป็นไปตามที่สร้างฝัน หรือ คาดหวัง สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ คือ โครงการนี้แย่ ไม่ดี ที่ทำให้เกิดแบบนี้เพราะเราพลาดความจริงที่ต้องเข้าใจในโครงการ
แล้วความจริง คือ อะไร? คนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการควรเข้าใจโครงการก่อน และเอเจนก็ควรเข้าใจเช่นเดียวกัน
ข้อแรก โครงการมีจุดประสงค์ให้เราไปหาประสบการณ์ชีวิต ไม่ใช่ไปหาเงินกลับมาที่ไทย ถ้าจะไปหาเงิน ลองคำนวณดู ทำงานที่ไทยได้เงินมากกว่าแน่นอนในระยะเวลา 3 เดือน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการร่วมโครงการ ค่าตั๋วเครื่องบิน และจิปาถะอื่นๆ
ข้อสอง ถ้าเข้าใจข้อแรกดีแล้ว มาวางแผนกันว่า เราเหมาะกับงานอะไร แล้ววัดกันยังไง? ถามผมก็คงบอกอะไรไม่ได้ เพราะคนเราชอบไม่เหมือนกัน แต่งานบ้างงานเราไม่กล้าทำที่ไทยเพราะกลัวคนดูถูก ซึ่งจริงๆ เป็นอะไรบ้างอย่างมาปิดกั้นความสามารถของเราไว้ ลองทำงานที่ไม่เคยทำดู และไม่ต้องใช้ภาษามากก็ได้ แล้วจะได้เรียนรู้ในหลายมุม เราจะเข้าใจคนอื่นๆ มากขึ้น ทำงานตำแหน่งอะไรในโครงการนี้หนักเหมือนกัน 'ยิ่งเป็นคนเลือกมาก ยิ่งเจองานที่ทำแล้วไม่มีความสุข' เพราะโลกเรา คนที่มีลักษณะเหมือนกัน มักหมุนเวียนไปพบกันเสมอ
อยากเจอคนแบบไหน ก็ทำตัวเป็นคนแบบนั้น
ข้อสาม ถ้าเข้าใจข้อแรกและข้อสอง แปลว่าความคิดเราเริ่มเปลี่ยน มองในมุมที่แตกต่างออกไป เคยสังเกตไหม ทำไมคนชาติตะวันตกมีแนวคิดเจ๋งๆ กัน ก็เริ่มจากการคิดอะไรที่นอกกรอบ เจอกับอะไรที่ไม่เคยเจอ ทำให้คิดแบบที่คนอื่นไม่เคยคิดไงละ คิดได้แล้วก็มาค้นหาเอเจนที่เราจะไปด้วยกัน ก็ไม่ยากไป Google ดูขึ้นมาเยอะเลย มีทั้งคำชมและคำต่อว่า ปะปนกันไป แล้วจะเลือกยังไง? สมัยนี้เค้าไม่ได้ดูที่ออฟฟิตกันแล้วว่าอยู่ไหน เพราะจะอยู่กรุงเทพ ไปพบเจอมา หรือ อยู่เชียงใหม่ไม่ได้เจอ ก็ไม่ต่างกันตอนไปถึงที่อเมริกา ต่างกันที่การบริหารจัดการมากกว่า และควรดูที่การนำเสนอข้อมูล การตอบคำถาม ลักษณะการทำงาน แน่นอนทุกที่อยากขายมากๆ แต่จะมีกี่ที่จะคัดเลือกที่ความพร้อมของนักศึกษา โดยให้คำแนะนำและเตรียมตัว ที่สำคัญไม่เกี่ยวกับราคา เพราะต้นทุนค่าโครงการไม่ต่างกันมาก ถ้าแพงมากอาจบริการดี? หรือถ้าถูกอาจบริการแย่? อาจไม่ใช่เลยก็ได้ แล้วยังไงดี? ดูง่าย ๆ งานที่เค้าแนะนำมา มีจริงใช่ไหม เพราะส่วนใหญ่โฆษณางานเยอะมาก สุดท้ายรับนักศึกษามาเยอะไม่รู้ทำยังไง ก็บีบให้เอางานที่เค้ามี หรือ ส่งต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเจอที่ดีก็ดีไป ดังนั้น ถ้าเค้าตอบตรงไปตรงมาว่ามี หรือ ไม่มี ก็ชัดเจนทำให้เชื่อใจได้มากกว่า แล้วลองถามต่อว่า ถ้างานที่ได้โดนยกเลิก เค้าจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เรายังไง ถ้าตอบว่าองค์กร หรือ US Sponsor แก้ไขให้ แสดงว่าเรามีโอกาสโดนตัดหางปล่อยวัดหลังจากขึ้นเครื่องแล้ว ถ้าตอบว่าเค้าจะช่วยเหลือตลอด ก็เชื่อได้ครึ่ง เพราะทุกที่จะพูดแบบนี้ ถ้าตอบว่าเค้าประสานงานเอง หรือ มีบริษัทที่อเมริกาชัดเจน เราก็จะเลือกที่นี่ละ เพราะถ้ามีปัญหามีคนช่วยแนะนำเราในการแก้ไขปัญหาแน่นอน แต่สิ่งที่เตือนใจเสมอ คือ
ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน
ข้อสี่ งานทุกงานมีจุดเด่น และจุดด้อยในตัว การเลือกงาน ต้องเข้าใจว่า มีช่วง High และ Low แต่เฉลี่ยแล้วควรได้ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยใช้ 3 เดือนมาเฉลี่ย ไม่ใช่เอาเฉพาะช่วง Low และงานที่รับจำนวนมาก ต้องเป็นนายจ้างใหญ่ๆ ถ้าไปดูแล้วเป็นนายจ้างเล็ก แต่รับเยอะ ถอยทันที เพราะชั่วโมงงานได้น้อยชัวร์ บ้านพักต้องได้ 2 คนต่อห้อง ถ้าอยากอยู่คนเดียวก็จ่ายเพิ่ม ถ้าเป็นที่แออัดถอยเลย เพราะงานก็แย่งกัน ที่อยู่ก็แย่งกันอีก ไม่เหมาะกับการมาหาประสบการณ์แบบนี้ ถึงได้บ้านไกลจากที่ทำงาน แต่เหมาะกับคุณภาพชีวิตของเรา ก็ดีกว่าอยู่แบบใกล้ๆ แต่สภาพแวดล้อมไม่ดี ชีวิตเราต้องอยู่แบบปลอดภัย อย่าเสี่ยงเพราะเห็นว่าใกล้และราคาถูก
ข้อห้า เตรียมตัว เตรียมความพร้อมทั้งการสัมภาษณ์ ให้เวลาสักนิดจะได้ไม่พลาด อย่าไปเชื่อเพื่อนมากกว่าเชื่อตัวเอง สงสัยอะไร หาข้อมูลให้เรียบร้อย บางคนเจอเพื่อนหลอกให้โอนเงินให้ แล้วไม่โอนเข้าโครงการ หรือ ไม่โอนไปจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน บอกเลยเรื่องเงิน ให้ทำเองและโอนไปให้ถูกตามที่บริษัทแจ้ง 'อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง' ตรวจสอบให้ดี ๆ ส่วนตั๋วเครื่องบินจองก่อนได้ราคาถูกกว่าแน่นอน ลอง Google ดู 'ตั๋วนักเรียน' แนะนำหาไว้แต่เนิ่น ๆ จองไว้ก่อนได้ไม่เสียเงินค่าจอง ที่ไหนเรียกเก็บแปลว่ามัดมือชกให้เราถอยๆ ตั้งหลัก ถ้าอยากรู้ว่าน่าเชื่อถือไหม ถามเอเจนเลยว่า เป็น IATA Agent ไหม? ถ้าเป็น ขอเลขสมาชิกเลย xx-xxxxxx รูปแบบนี้ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องระวังตอนซื้อละกันอาจได้ตั๋วปลอมหรือโก่งราคา
ถ้าอ่านมาไกลถึงข้อห้า แสดงว่ารู้แล้วว่าโครงการ Summer Work and Travel ดีจริง หรือ แย่กันแน่? ขึ้นอยู่กับคนที่มองแต่ละมุม แต่ลองมองหลายๆ มุม มาบวก/ลบ/คูณ/หาร แล้วจะได้คำตอบของตัวเองว่าเราจะเดินต่อไปหรือจะอยู่ที่เดิม
ประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะดี หรือ ร้าย มันก็คือ สิ่งเตือนใจให้เราเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าในอนาคตอย่างมั่นคง
留言